นมปลอม เต้านมเทียม เสื้อชั้นในสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมะเร็งเต้านม ซิลิโคนหลังผ่าตัด ซิลิโคนเสริมหน้าอก คุณภาพสูง สัมผัสเหมือนจริง

คู่มือสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

คู่มือสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด

        คู่มือนี้สำหรับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยที่กำลังได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อเป็นแนวทางให้ทราบถึงวัตถุประสงค์วิธีรักษาและผลข้างเคียงที่เกิดจากยา การปฏิบัติตนเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้น

     เคมีบำบัดคืออะไร

เคมีบำบัดคือ การนำสารเคมีหรือยามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ยาเหล่านี้ ถือว่าเป็นยาต่อต้านมะเร็ง

     การออกฤทธิ์ของยาเคมีบำบัด
ยาเคมีบำบัดเมื่อเข้าไปในกระแสเลือดจะกระจายไปทั่วร่างกายยาจะทำลายเซลล์เนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็ง โดยขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์ ยาเคมีบำบัดจะทำลายเซลล์ที่กำลังแบ่งตัวเร็วได้ดี ดังนั้นจึงอาจมีผลต่อเซลล์ธรรมดาที่แบ่งตัวเร็วด้วย เช่น ไขกระดูก เยื่อบุทางเดินอาหารฯลฯ ทำให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งเป็นเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดยาเซลล์เหล่านี้ก็จะฟื้นตัวกลับสู่สภาวะปกติได้เร็ว การให้มีระยะพักระหว่างให้ยาแต่ละครั้ง ก็เพื่อให้เซลล์เหล่านี้ฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ

อาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ภายหลังจากการได้รับยาเคมีบำบัดมีดังนี้

1.คลื่นไส้,อาเจียน

      อาการคลื่นไส้ อาเจียน หลังให้ยา บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้เล็กน้อยแต่ไม่อาเจียน บางคนอาจจะเกิดอาการขึ้นทันทีหลังจากได้ยาประมาณ 2-3 ชม.ไปแล้วก็ได้ สำหรับบางคนที่มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนมากตลอดวันและรับประทานอารหารได้น้อยมากควรรีบปรึกษาแพทย์

การบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ควรปฏิบัติดังนี้

     * รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย รับประทานครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
     * หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด มีไขมันและ ของทอดทุกชนิด
     * ทำความสะอาดปากและฟัน หลังอาหารทุกมื้อ
     * ถ้ารู้สึกคลื่นไส้ให้พักผ่อนและสูดหายใจยาวๆ ลึกๆ ช้าๆ

2 ผมร่วง

ผมร่วงเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากเคมีบำบัดที่พบได้โดยทั่วไปแต่ไม่เกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไป บางคนอาจจะร่วงเล็กน้อย ทำให้ผมบางลง หรือบางคนอาจจะร่วงมากจนกระทั่งศรีษะล้าน แต่ผมก็จะขึ้นมาใหม่หลังจากหยุดยาเคมีบำบัด บางคนอาจจะเริ่มมีผมขึ้นใหม่ในระหว่างที่ยังให้ยาอยู่ และในบางรายผมที่ขึ้นใหม่ อาจมีสีที่แตกต่างจากของเดิมและผมจะเส้นเล็กนุ่มกว่าเดิม

วิธีที่จะประวิงเวลาให้ผมร่วงช้าลงควรปฏิบัติดังนี้

     *ให้ตัดผมสั้น การดูแลผมจะง่ายกว่าในกรณีที่เกิดผมร่วง
     *ใช้แชมพูสระผมชนิดอ่อนๆ เช่น แชมพูสำหรับเด็ก และอย่าสระผม
     *ใช้แปรงที่มีขนนิ่มแปรงผมหรือใช้หวีที่มีซี่ฟันห่างๆและอย่าหวีผมบ่อย
     *ห้ามไดร์ผม ดัดผม หรือย้อมผม
     *ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าควรต้องใช้วิกหรือไม่
     *ควรเตรียมวิกผมไว้ล่วงหน้าก่อนผมร่วงหมดจะเข้ากับรูปหน้าที่มีผมตามธรรมชาติมากกว่าซื้อวิกผมเมื่อผมร่วงมากแล้ว

3.แผลในปาก

    
อาจมีแผลในปากหรืออาจมีเพียงอาการปวดแสบในปาก เนื่องจากอาการนี้ทำให้รับประทานอาหารได้ลำบาก จึงส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง ดังนั้นจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้
    
    
*แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่มและบ้วนปากทุกครั้ง หลังรับประทานอาหารทุกมื้อ
      *รับประทานอาหารอ่อนๆ
      *อมน้ำแข็งบดจะช่วยให้รู้สึกสบายขึ้น


4.ท้องเสีย

อาการท้องเสียเป็นผลข้างเคียงภายหลังจากได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับบางคนเท่านั้น ถ้ามีอาการดังกล่าวโปรดแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบ และควรปฏิบัติดังนี้

     *ควรรับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกแล้ว
     *ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น กล้วย
     *รับประทานอาหารอ่อนๆย่อยง่ายแต่ครั้งละน้อยๆ
     *หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น ถั่ว โซดา
     *ควรงดดื่ม นม ชา และ กาแฟ ตลอดจนน้ำผลไม้ทุกชนิด
     *ควรดื่มน้ำมากๆ เช่น น้ำอุ่นๆ เป็นต้น
     *รับประทานยาแก้ท้องเสียตามคำสั่้งแพทย์

5.ท้องผูก


   อาการท้องผูกอาจจะเกิดขึ้นได้กับบางคน ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าว


ควรปฎิบัติดังนี้

   *ให้รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผักและผลไม้ให้มากขึ้น ข้่าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ
   *ให้ดื่มน้ำมากๆ วันละไม่ต่ำกว่า3 ลิตรอาจจะเป็นน้ำผลไม้น้ำมะตูม น้ำเก๊กฮวย น้ำตะไคร้ น้ำใบบัวบก น้ำมะขาม
   *ออกกำลังกายให้เพียงพอและสม่ำเสมอ
   *ให้ใช้ยาถ่าย หรือ ยาระบายตามคำสั่งแพทย์

6.ผิวหนังและแล็บ

   ยาบางชนิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเล็บเช่น เกิดการเปลี่ยนสีผิว และเล็บอาจจะดำคล้ำมากขึ้น เกิดรอยดำตามหลอดเลือดตรงตำแหน่งที่ฉีดยา ผิวหน้าอาจมีฝ้าขึ้นสีคล้ำ ผิวหนังแห้ง เล็บมีรอยดำคล้ำ อาการต่างๆเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วคราว  

     การป้องกันผิวหนังที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ

   *หลีกเลี่ยงจากการถูกแสงแดดจ้า ด้วยการสวมเสื้อแขนยาวใช้ร่มหรือสวมหมวก
   *ทายากันแดดที่หน้าเพื่อป้องกันฝ้า
   *ทาครีมหรือน้ำมันที่ผิิวหนัง เพื่อช่วยให้ชุ่มชื่น

7.การป้องกันการติดเชื้อ

   ยาเคมีบำบัดอาจทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากยาเคมีบำบัดจะไปกดการทำงานของไขกระดูกทำให้ผลิตเม็ดเลือดขาวลดลงร่างกายก็จะต่อสู้กับเชื้อโรคได้น้อยลง ผู้ป่วยจึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะในช่วง 7-14 วันหลังให้ยาดังนั้นเื่พื่อป้องกันการติดเชื้อ

   ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

   *ไม่ควรไปในที่ที่มีฝูงชนแออัด เช่น ศูนย์การค้า ตลาดนัดโรงภาพยนตร์
   *หลีกเลี่ยงให้ห่างจากคนที่เป็นโรคติดต่อ เช่น เป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด
   *ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
   *ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อ ประกอบด้วย มีไข้สูงหนาวสั่น เจ็บคอ ไอมาก ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเอง
  
8.เพศสัมพันธ์

   ยาเคมีบำบัดอาจมีผลกับอวัยวะสืบพันธุ์ และหน้าที่การทำงานทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ไม่เสมอไป ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นขึ้นกับยาที่ผู้ป่วยได้รับ อายุและสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วยเอง
   ในผู้ชายยาเคมีบำบัดจะทำให้มีการผลิตอสุจิน้อยลง ซึ่งจะทำให้เป็นหมันชั่วคราว หรืออาจจะเป็นหมันถาวร ขึ้นอยู่กับยาที่ได้รับ แต่ผู้ป่วยก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปรกติและสามารถมีบุตรได้ โดยการเก็บอสุจิไว้กับธนาคารฯก่อนได้รับยาเคมีบำบัดโดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ในเรื่องเหล่านี้
   ในผู้หญิงยาเคมีบำบัดจะไป ทำให้รังไข่ผลิตฮอโมนลดน้อยลง และมีผลทำให้บางคนมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือนในระหว่างที่ใช้ยาเคมีบำบัดและในผู้ป่วยบางรายที่่อายุเกิน 45 ปีขึ้นไปประจำเดือนอาจจะหมดไปเลย มีอาการร้อนวูบวาบตามตัว คัน ช่องคลอดแห้ง เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ครีมหล่อลื่นด้วย นอกจากนี้ควรคุมกำเนิดในระหว่างรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เพราะทารกในครรภ์อาจเกิดความผิดปรกติได้

9.อารมณ์

   ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดอาจมีอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากกังวลต่อโรคที่เป็นและต่ออาการอันเกิดจากผลข้างเคียงของยา แลบางรายอาจมีความวิตกถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาอีกด้วย

จึงจำเป็นที่ครอบครัว ญาติและเพื่อนควรมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ป่วยโดยการดูแลเอาใจใส่ และพูดคุยให้กำลังใจเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจมีกำลังใจขึ้น และคลายความวิตกกังวล


ขอบคุณที่มา หน่วยเคมีบำบัดและให้เลือดโรงพยาบาลศิริราช